วันนี้ได้พาเด็กจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะ
การเคลื่อนไหวและจังหวะมีบทบาทและสำคัญมากต่อการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งเด็กแต่ละคนจะต้องทราบว่าร่างกายของเขานั้นสามารถทำอะไรได้บ้าง เขาสามารถเคลื่อนไหวร่างกายไปได้อย่างไร ไปในทิศทางใด จะต้องสัมพันธ์กับสิ่งใดหรือจะต้องใช้อุปกรณ์อะไรที่จะช่วยให้เขาสามารถ เคลื่อนไหวอย่างสัมพันธ์กัน องค์ประกอบต่างๆ
ที่จะเป็นรากฐานของการเคลื่อนไหว ดังนี้
1. บริเวณพื้นที่ (Space) หมายถึงสถานที่ที่เด็กต้องการในการเคลื่อนไหว ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วจะต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งต่อไปนี้
1.1 บุคคลที่อยู่รอบตัวเด็กในขณะที่เด็กมีการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น แขน ขา ลำตัว ในขณะที่เท้าอยู่กับที่
1.2 อุปกรณ์หรือวัตถุอื่นๆ ที่จะช่วยให้เด็กสามารถเคลื่อนไหวไปได้รอบๆ บริเวณพื้นที่ได้อย่างปลอดภัย
1.3 ทิศทาง (Direction) ได้แก่ การเคลื่อนไหวไปข้างหน้า การเคลื่อนไหวถอยหลัง การเคลื่อนไหวไปด้านข้าง การเคลื่อนไหวไปด้านบน การเคลื่อนไหวไปด้านล่าง การเคลื่อนไหวเป็นวงกลม การเคลื่อนไหวแบบคดเคี้ยว และการเคลื่อนไหวแบบบิดตัว เป็นต้น
1.4 ระดับของการเคลื่อนไหว ได้แก่ ระดับความสูงมาก ระดับความสูงปานกลาง และระดับต่ำ
1.5 ขนาด ได้แก่ บริเวณพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่ บริเวณพื้นที่ที่มีขนาดเล็ก
2. เวลาที่ใช้ในการเคลื่อนที่ หมายถึง ระดับความช้า – เร็ว ของการเคลื่อนไหว เช่น เคลื่อนไหวอย่างช้าๆ เคลื่อนไหวในระดับความเร็วปานกลาง เคลื่อนไหวในระดับความเร็วมาก เคลื่อนไหวอย่างเรียบร้อยนิ่มนวล เป็นต้น
3. ความแรงของการเคลื่อนไหว หมายถึง ปริมาณหรือจำนวนของความแข็งแรงหรือความแข็งแกร่งที่ต้องการเพื่อการเคลื่อน ไหวที่เหมาะสม เช่น เบามาก หนักมาก แรงมาก ความอ่อน และความตึงตัว เป็นต้น
4. การเปลี่ยนทิศทางหรือท่าทางของการเคลื่อนไหว หมายถึง ลำดับขั้นหรือการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนของการเคลื่อนไหวอย่างหนึ่งไปสู่การ เคลื่อนไหวอีกอย่างหนึ่ง หรือการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งทิศทางจากสภาพการณ์หนึ่งไปสู่อีกสภาพการณ์หนึ่ง นั่นเอง
จะเห็นได้ว่า องค์ประกอบของการเคลื่อนไหวนั้น ประกอบด้วย บริเวณพื้นที่ เวลาที่ใช้ในการเคลื่อนที่ ความแรงของการเคลื่อนไหว และการเปลี่ยนแปลงทิศทางหรือท่าทางของการเคลื่อนไหว สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นองค์ประกอบที่เป็นรากฐานของการเคลื่อนไหว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น